วันอังคารที่ 18 มีนาคม 2568 เวลา 10.00 น. นายไกรเลิศ ดาวเรือง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 7 ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดจังหวัดนครปฐม ตามโครงการมหาดไทยสีขาว สร้างพื้นที่ปลอดภัย หยุดยั้งยาเสพติด (Safe Zone No Drugs) ณ ห้องประชุมพิมานปฐม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครปฐม โดยมีนางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธาน ผู้เข้าร่วมลงนาม MOU ประกอบด้วย ผู้บริหารส่วนราชการจากตำรวจภูธรจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครปฐม รวม 60 หน่วยงาน
วัตถุประสงค์การจัดงาน :
1. เพื่อป้องกันมิให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างและบุคลากรในสังกัดเข้าไป เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกรูปแบบ
2. เพื่อป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กเยาวชน มิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยการลดจำนวนผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดโดยเฉพาะผู้เสพหน้าใหม่ ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน ที่อยู่ในระบบการศึกษา
3. เพื่อป้องกันนักเรียน นักศึกษา รวมถึง ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
ทั้งนี้ นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้กล่าวมอบนโยบายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของจังหวัดนครปฐม ดังนี้
จังหวัดนครปฐม มีเจตนารมณ์ในการมุ่งลดความเดือนร้อน ของประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนโดยใช้มาตรการปราบปรามทางกฎหมายอย่างจริงจัง การยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติดและดึงผู้เกี่ยวข้องออกจากวงจรการค้ายาเสพติดอย่างถาวรใช้กลไกชุมชนเป็นฐานในการสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งนำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่เข้ารับการบำบัดรักษาจนครบกระบวนการ ควบคู่กับการป้องกันยาเสพติดจากต้นทาง เพื่อลดจำนวนผู้เสพรายใหม่และการจัดระเบียบสังคม ควบคุมปัจจัยเสี่ยง ตลอดจนลดการเกิดพฤติการณ์ซ้ำโดยใช้แนวคิดสาธารณสุขนำทางในการแก้ปัญหามุ่งบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้กับผู้ป่วยยาเสพติด ให้สามารถกลับคืนสู่สังคม ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด และเป็นจุดเริ่มต้นสู่การแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพื่อมุ่งลดระดับความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัด ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม คืนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความสงบสุขให้กับประชาชน สร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่น ของประชาชนต่อการดำเนินงานของหน่วยราชการ โดยมีจุดเน้นการปฏิบัติ ดังนี้
1. การนำผู้เสพผู้ติดยาเสพติด ผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติด และผู้ถูกคุมความประพฤติคดียาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม
2. การปราบปรามนักค้ายาเสพติด ด้วยมาตรการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ และใช้มาตรการทางทรัพย์สิน เพื่อทำลายโครงสร้างการค้ายาเสพติด
3. การขจัดปัจจัยเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด ตลอดจนแก้ไขปัญหากลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง
4. ขยายการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
5. ขับเคลื่อนกลไกการแก้ไขปัญหายาเสพติดในจังหวัด สร้างเอกภาพในการ แก้ไขปัญหายาเสพติด
โดยใช้กลไกของ ศอ.ปส.จ.นฐ / ศป.ปส.อ./ศป.ปส.อปท. บูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนภารกิจตามอำนาจหน้าที่และขอความร่วมมือทุกหน่วยงานเร่งรัดการปฏิบัติ เพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด สร้างความพึงพอใจ และความเชื่อมั่นของประชาชนให้สูงขึ้นไม่ให้ปัญหายาเสพติดสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำความปลอดภัยมาสู่ประชาชน และดึงประชาชาชนออกจากวงจรยาเสพติดอย่างถาวร