เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๕.๐๐ น. ผู้แทนสำนักงาน ปปส.ภาค ๗ โดยนายนิมิตร นันตา นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ และนายจิรพงศ์ วางวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ ศอ.ปส.จ.ประจวบคีรีขันธ์ ครั้งที่ ๖/๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมสิงขร ชั้น ๓ ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับทราบ และติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ พร้อมมอบนโยบาย แนวทางการดำเนินงานสำคัญให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรับทราบนำไปปฏิบัติ โดยมีนายวิรัตน์ ทำนุราศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานด้านปราบ ด้านป้องกัน อาทิ ตำรวจภูธรจังหวัด สถานีตำรวจภูธร ๑๖ สถานี นายอำเภอ/ปลัดอำเภอ ๘ อำเภอ ผู้แทนสถานศึกษา สพป.เขต ๑ เขต ๒ ผู้แทนเรือนจำ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน ๕๖ คน โดยมีประเด็นการประชุมที่สำคัญ คือ
๑. ผู้แทน ปปส.ภาค ๗ นำเสนอสถานการณ์ยาเสพติดในภาพรวม และ ศอ.ปส.จ.ปข. นำเสนอสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่จังหวัด โดยภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ในระดับเบาบาง-ปานกลางสามารถควบคุมได้ ไม่พบข้อมูลการนำเข้ายาเสพติดตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ และตัวยาเสพติดที่ยังคงระบาดในจังหวัด คือ ยาบ้า กัญชา และพืชกระท่อม
๒. หน่วยงานต่าง ๆ มีการดำเนินงานด้านการป้องกันอย่างต่อเนื่อง เช่น สนง.สวัสดิการฯ จัดอบรม ชี้แจง ส่งเสริมการดำเนินงานตามเกณฑ์โรงงานสีขาว และ มยส. ตำรวจภูธรอบรมให้ความรู้แก่นักเรียนในโรงเรียน และอำเภอดำเนินการค้นหาผู้ใช้ยาเสพติดเข้าค่ายศูนย์ขวัญจังหวัด ที่เปิดดำเนินการระหว่างวันที่ ๑๑ - ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ จำนวน ๕๐ คน
๓. สรุปผลการเบิกจ่ายงบประมาณที่ ป.ป.ส. จัดสรรให้ ในไตรมาสที่ ๑ มีการเบิกจ่ายไปแล้ว ๑๙.๒๘ % และประธานได้กำชับให้เบิกให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะงบการจัดค่ายบำบัดที่กำหนดแผนงานในช่วงเดือน มกราคม - มีนาคม ๒๕๕๙
๔. ข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมประชุม คือ (๑) การกำหนดตัวชี้วัดข้อหาสำคัญ ทำให้ตำรวจมีการจับกุมไม่เป็นไปตามสถานการณ์เนื่องจากกังวลจะไม่ผ่านตัวชี้วัดที่ปรับขึ้นตามจำนวนคดีที่มีการจับกุมปัจจุบัน จึงเสนอให้อ้างอิงตัวชี้วัดจากคดีที่มีการจับกุมในปีงบประมาณที่ผ่านมา (๒) ขอให้ ป.ป.ส. พิจารณาสนับสนุนเครื่องมือ GPS เพื่อใช้ในงานปราบปราม ล่อซื้อ จับกุมผู้ค้าในพื้นที่ และการสนับสนุนการดำเนินการล่อซื้อ เช่น เงินล่อซื้อ และเข้าร่วมปฏิบัติการล่อซื้อร่วมกัน