เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดฯ มี นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายทวีป ช้างเขียว อัยการจังหวัดฯ หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ภาค 7 สถานีตำรวจภูธร 16 แห่ง กก.ตชด.14 ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดย ป.ป.ส.ภาค 7 ได้สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดใน 8 จังหวัดของพื้นที่ภาค 7 พบว่าปัจจุบันยังคงมีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านเข้ามาทางชายแดน จ.กาญจนบุรี ก่อนลำเลียงลงสู่ภาคใต้ โดย จ.ประจวบฯ เป็นพื้นที่พักและลำเลียงของขบวนการค้ายาเสพติด ต้องเฝ้าระวังการลักลอบลำเลียงโดยการใช้รถยนต์และรถบรรทุกทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรองรวมทั้งทางรถไฟ ชนิดของยาเสพติดที่ตรวจจับกุมได้ส่วนใหญ่เป็นยาบ้า ยาไอซ์ นอกจากนี้ในพื้นที่ภาค 7 ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเฮโรอีนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.กาญจนบุรี ประจวบฯ และราชบุรี รวมทั้งตัองเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเฉพาะพื้นที่ จ.สมุทรสาคร นครปฐม และประจวบคีรีขันธ์
ด้านสำนักงานสาธารณสุข จ.ประจวบฯ รายงานผลการดำเนินงานบำบัดยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2565 จากหน่วยบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพผู้ติดยาเสพติดใน จ.ประจวบฯ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 - 30 ก.ย.65 มีผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลยาเสพติด 260 คน สมัครใจบำบัดตาม ม.114 คือฝ่ายปกครอง/ตำรวจ ส่งตัว 35 คน และศาลมีคำสั่งให้เข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจ 16 คน ส่วนผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่บังคับบำบัดในระบบคุมประพฤติมีจำนวน 70 คน และผู้ต้องโทษคดียาเสพติดเข้ารับการบำบัดจำนวน 194 คน ส่วนการจัดตั้งศูนย์คัดกรองเพื่อรองรับการนำส่งผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ปัจจุบัน จ.ประจวบฯ ได้มีการขึ้นทะเบียนจัดตั้งศูนย์คัดกรองตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 แล้วจำนวน 68 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ภายในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.ซึ่งศูนย์ดังกล่าวกำหนดให้มีครอบคลุมทั้ง 48 ตำบล เพื่อทำหน้าที่ประเมินสภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ก่อนคัดแยกว่าสมควรจะนำตัวเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานที่ใด เช่น สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หลังจากนั้นผู้เสพที่ได้รับการบำบัดแล้วทุกรายจะต้องนำเข้าสู่ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมเพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติต่อไป.

